เปิดตำนานเรือยาวหลวงพ่อเปิ่น ตอนที่ 2
หลังจากที่พระอาจารย์ตัดสินใจเข้าป่า เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2537 พระอาจารตั๊ก ได้เข้าพบท่านผู้ว่าเมืองกาญจนบุรี (ลูกศิษย์หลวงพ่อตั้งแต่สมัยท่านเป็นผู้ว่าที่นครปฐม) เพื่อแจ้งจุดประสงค์ของหลวงพ่อเปิ่น ว่าต้องการไม้ขุดเรือ ท่านผู้ว่าจึงได้ปรึกษากับทางป่าไม้จังหวัด ท่านได้สอบถามคนในพื้นที่ว่ามีไม้ใหญ่ที่พอจะขุดเรือได้ไหม ไม้ใหญ่มี แต่ถูกทอนเป็นท่อนๆจึงไม่สามารถเอามาขุดเรือได้ เพราะไม้ที่จะใช้ในการขุดเรือต้องใช้ความยาวถึง 15 วา (ประมาณ30เมตร) ถึงแม้จะใช้แค่ 14 วา 2 ศอกก็ตาม เลยประกาศออกไปว่า ในจังหวัดกาญจนบุรี ใครมีความสามารถที่จะหาไม้ใหญ่เพื่อใช้ขุดเรือได้บ้าง ก็มีคนแจ้งมาว่า กำนันมั่น จี้อุ่น (ฉายา ถ้าเดินผ่านต้นไม้ต้นไม้ต้องเหี่ยว)มีความเชี่ยวชาญในการหาไม้เป็นพิเศษ จึงได้เชิญกำนันพร้อมกับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติมาพบ
ทางหัวหน้าอุทยานก็ไม่ได้ติดปัญหาอะไร กำนันจึงมอบหมายให้นายโก้ ลูกน้องผู้ชำนาญเส้นทาง ให้เข้าไปหาไม้ตะเคียนในป่า นายโก้เข้าไปได้ไม่ลึกเท่าไรก็พบต้นตะเคียนสามพอน ที่ลำต้นสวย ตรง สามารถเอามาขุดเรือได้ แต่ในเมื่อเข้าป่าใหญ่ทั้งทีเอาต้นตะเคียนสามพอนก็คงจะไม่สมน้ำสมเนื้อ พระอาจารย์ตั๊กท่านจึงตัดสินใจให้เดินลึกเข้าไปอีก กำนันได้มอบหมายลูกน้องอีกคนชื่อนายจเร(ชาวกะเหรี่ยง)ผู้ชำนาญในการหาไม้ เดินลึกเข้าไปจนเลยเหมืองเต่าดำ เดินลึกเข้าไปในป่าพอสมควรก็ได้พบกับต้นไม้ใหญ่ ลำต้นอวบ นั่นก็คือต้นตะเคียนทอง สูงเด่น เป็นไม้แม่ลูกอ่อน เขาว่ากันว่าต้นตะเคียนทองเป็นที่สุดของไม้ตะเคียนเลยก็ว่าได้ ตามความเชื่อแต่โบรานกล่าวว่า ต้นตะเคียนทองจะมีเทวดาคอยคุ้มครองปกปักรักษา ก่อนที่นายช่างจำเนียร ตังสุหล จะลงมือตัด ก็ต้องทำพิธีบอกกล่าวเทวดา เจ้าป่าเจ้าเขาเสียก่อน พระอาจารย์ตั๊กท่านก็ได้อธิษฐานจิตว่า “ถ้าคัดไปแล้วก็ขอให้ใช้ได้”
ด้วยพื้นที่บริเวณนั้นฝั่งหนึ่งเป็นลำธารอีกฝั่งหนึ่งเป็นภูเขา นายช่างจึงได้วางแผนที่จะบังคับทิศทางไม้ให้ล้มพาดลำธาร เพื่อจะได้สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ปรากฎว่าไม้กลับล้มไปอีกทาง ไปพิงกับฝั่งที่เป็นเนินเขา ทำให้การทำงานยากลำบากมากขึ้น แต่พอได้สำรวจพื้นที่อย่างละเอียดกลับกลายเป็นข้อดีที่ไม้ไม่ได้ล้มไปฝั่งลำธาร เพราะถ้าล้มมาทางลำธารด้วยความสูงใหญ่ของต้นตะเคียนทองต้นนี้ล้มหากฟาดลงมา ต้องหักแน่นอนเพราะไม้ท่อนนี้มีปัญหาอยู่แล้ว เพราะสูงเลยขึ้นไปประมาณ 9 วา มีโพรงแมลงกินลึกเข้าไปประมาณเกือบเมตรได้ แต่ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้ ปาฏิหาริย์ของไม้ตะเคียนทองต้นนี้ยังไม่หมดแค่นี้
ปกติแล้วนายช่างจะเป็นคนบังคับไม้พลิกหาตำแหน่งตามที่ต้องการที่จะเลื่อยและขุดเรือ แต่ครั้งนี้ ไม่เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะไม้ตะเคียนต้นนี้เป็นผู้บังคับให้นายช่างทำตามทั้งหมด การที่จะเคลื่อนย้ายไม้ใหญ่ที่ล้มพิงเขาอยู่ให้ลงมาแนวราบนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นายช่างและทีมงานต้องใช้สลิงขนาดใหญ่เพื่อดึงต้นตะเคียนให้ลงมาแนวราบ แต่ดึงเท่าไหร่ก็ไม่ยอมลง แถมสลิงที่เตรียมมา มีกี่เส้นๆก็ขาดหมด กำนันต้องออกจากป่าไปซื้อสลิงเส้นใหม่มาก็ขาดอีก ส่วนต้นตะเคียนไม่มีวี่แววว่าจะขยับแม้แต่น้อย
พระอาจารย์ตั๊กจึงได้จุดธูปบอกกล่าวเทวาอารักษ์ที่สถิตอยู่ที่ต้นตะเคียนต้นนี้ ขอให้ขจัดอุปสรรคและให้ได้ไม้กลับไป เพราะจะเอาไปทำเรือให้คนกราบไหว้บูชา และครั้งนี้ก็ใช้วิธีให้คนเอาจอบขุดเขา ถากดินลงมาให้เป็นทางลาดและค่อยๆวินลงมา อย่างไม่น่าเชื่อ ต้นตะเคียนทองค่อยๆลงมาโดยที่แทบจะไม่ต้องออกแรง โดยที่สลิงก็เป็นสลิงเส้นที่ขาดแล้วเอามาต่อใหม่ สร้างความประหลาดใจให้กับทีมงานทุกคนเป็นอย่างมาก พอถึงขั้นตอนจะปาดหน้าไม้เพื่อเริ่มขุด (ภาษาช่างขุดเรือคือ “เปิดท้อง” )นายช่างตั้งใจจะเปิดท้องอีกด้าน พอจะพลิกหน้าไม้ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะทำอย่างไรก็ไม่ขยับ เหมือนสิ่งศักดิ์บังคับว่าต้องเปิดหน้านี้เท่านั้น ถ้าเปิดอีกหน้าตามที่นายช่างตั้งใจไว้ ไม้ท่อนนี้จะเสียเลยไม่สามารถนำไปขุดเรือได้ พอเปิดหน้าไม้สำเร็จ ช่างถึงกับผงะด้วยความตกใจ เพราะได้พบกับโพรงที่ถูกแมลงกินยาวเกือบ1เมตร นี่คงเป็นปาฏิหาริย์ของไม้ตะเคียนทองที่ดลบรรดาลทุกอย่างให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะให้ได้ไม้ไปทำเรือตามความตั้งใจของหลวงพ่อ และได้ไม้ตะเคียนอีก 2 ต้นในละแวกใกล้เคียงมาขุดเรือเพิ่มอีก 2 ลำ
ขั้นตอนขุดยากพอสมควร ถึงกับต้องบังคับช่างให้ขุด เพราะเป็นไม้เนื้อแกร่งเนื้อไม้ขุดไม่ค่อยเข้า เพราะเป็นเสี้ยนสน ไม้เมืองกาญกับไม้ชาติตระการ จ.พิษณุโลกเหมือนกัน คือเป็นไม้ที่เจริญเติบโตช้า ถ้าเทียบกับไม้ภาคใต้ ขนาด 4-5 คนโอบจะอายุเฉลี่ยประมาณ 200-300 ปี แต่ถ้าเป็นไม้เมืองกาญขนาด 4-5 คนโอบเหมือนกัน อายุเฉลี่ยจะอยู่ที่ 500-600ปีเลยทีเดียว พอได้เรือมาทั้ง 3 ลำ พระอาจาร์ตั๊กได้ขอชื่อเรือกับหลวงพ่อเปิ่น หลวงพ่อท่านจึงได้ตั้งชื่อให้เรือยาวใหญ่ทั้ง 2 ลำว่า #เรือเทวาฤทธิ์1 และ #เรือเทวาฤทธิ์2 ส่วน #เรือเทวาฤทธิ์3 เป็นเรือยาวกลาง ยาว 12 วา
#เรือเทวาฤทธิ์1 ลงน้ำครั้งแรกได้แชมป์งานเปิดสะพานมิตรภาพไทย- ลาวและเป็นแชมป์ถ้วยพระราชทานอีกหลายสนาม ในปี พ.ศ. 2538 ได้บูรณาการกับกองทัพบกโดยมอบให้กองทัพภาคที่1 เป็นผู้รับผิดชอบและกองทัพภาคที่1 มอบให้กองพลทหารราบที่9 รักษาพระองค์ จ.กาญจนบุรีเป็นผู้จัดกำลังพลพายเรือและได้เปลี่นชื่อเรือเทวาฤทธิ์1 เป็น #เจ้าขุนเณร ส่วน #เรือเทวาฤทธิ์2 คงชื่อเดิมและเรือยาวกลางเทวาฤทธิ์3 เป็น #เรือขุนรัตนาวุธ เรือเจ้าขุนเณรและเรือขุนรัตนาวุธได้ออกทำการแข่งขันทั่วประเทศไทยและได้แชมป์อีกหลายสนาม เช่นที่ราชบุรี สตึก บุรีรัมย์ คลองตาขำสมุทรสาครฯ ส่วนขุนรัตนาวุธได้แชมป์สนามวัดท่าหลวง จ. พิจิตร ในปีพ.ศ. 2541 และอีกมากมาย ตอนปีพ.ศ. 2541 ได้ซื้อเรือประเภทเรือยาวเล็ก30ฝีพายมาจาก อ.หลังสวน จ.ชุมพรชื่อ #เรือน้องนางลำภู และออกแข่งขันได้แชมป์ถ้วยพระราชทานมากมายจนถึงปัจจุบัน